Posted in วิเคราะห์คุณค่าคัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทยศาสตร์สงเคราะห์

วิเคราะห์คุณค่าคัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทยศาสตร์สงเคราะห์

คุณค่าด้านเนื้อหา

รูปแบบการแต่งคัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทยศาสตร์สงเคราะห์ เป็นหนังสือที่รวบรวมความรู้จากตำราอื่นๆ เกี่ยวกับแพทยศาสตร์ ซึ่งผู้แต่งเลือกใช้คำประพันธ์ประเภท กาพย์ยานี ๑๑ เริ่มต้นด้วยบทไหว้ครู และจรรยาบรรณของแพทย์ กับข้อควรปฏิบัติ ส่วนเนื้อหาที่ใช้ศึกษา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ว่าด้วยเรื่องลักษณะทับ ๘ ประการ ผู้แต่งใช้คำประพันธ์ประเภทร่ายให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาโรคของแพทย์แผนไทย

สาระสำคัญของเรื่อง คือ ความสำคัญของแพทย์และคุณสมบัติที่แพทย์พึงมี ซึ่งจะช่วยรักษาโรคได้ผลมากกว่ารู้เรื่องนาอย่างเดียว

โครงเรื่อง มีการลำดับความเริ่มต้นด้วยบทไหว้ครู เป็นการไหว้พระรัตนตรัย ไหว้เทพเจ้าของพราหมณ์ ไหว้หมอชีวกโกมารภัจ และไหว้ครูแพทย์โดยทั่วไป ต่อด้วยความสำคัญของแพทย์ จรรยาบรรณแพทย์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่แพทย์พึงมี และตอนท้ายกล่าวถึงทับ ๘ ประการ คือ อาการของโรคชนิดหนึ่งที่แทรกซ้อนกับโรคอื่น

กลวิธีการแต่ง เนื้อหาจัดเป็นตำราเฉพาะด้าน เน้นการอธิบายเป็นส่วนใหญ่ จึงใช้อุปมาโวหารเปรียบเทียบ เช่น

จะกล่าวถึงคัมภีร์ฉัน   ทศาสตร์บรรพ์ที่ครูสอน

เสมอดวงทินกร                    แลดวงจันทร์กระจ่างตา 

คุณค่าด้านวรรณศิลป์

๑.การสรรคำ  

๑.๑ การใช้ถ้อยคำที่เหมาะสมแก่เนื้อเรื่อง ทำให้เข้าใจความหมายตรงไปตรงมา

เช่น

บางหมอก็กล่าวคำ       มุสาซ้ำกระหน่ำความ

ยกตนว่าตนงาม                   ประเสริฐยิ่งในการรักษา

บางหมอก็เกียจกัน                ที่พวกอันแพทย์รักษา

บ้างกล่าวเป็นมารยา            เขาเจ็บน้อยว่ามากครัน

บ้างกล่าวอุบายให้                แก่คนไข้นั้นหลายพัน

หวังลาภจะเกิดพลัน              ด้วยเชื่อถ้อยอาตมา

๑.๒ การใช้สำนวนไทย ช่วยอธิบายให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น

เรียนรู้คัมภีร์ไสย         สุขุมไว้อย่าแพร่งพราย

ควรกล่าวจึ่งขยาย                อย่ายื่นแก้วให้วานร

๒. การใช้โวหาร

ทำให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายและเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น

อนึ่งจะกล่าวสอน        กายนครมีมากหลาย

ประเทียบเปรียบในกาย         ทุกหญิงชายในโลกา

ดวงจิตคือกระษัตริย์              ผ่านสมบัติอันโอฬาร์

ข้าศึกคือโรคา                      เกิดเข่นฆ่าในกายเรา

เปรียบแพทย์คือทหาร           อันชำนานรู้ลำเนา

ข้าศึกมาอย่างใจเบา              ห้อมล้อมรอบทุกทิศา

คุณค่าด้านสังคม

๑. สะท้อนให้เห็นความเชื่อของสังคมไทย  ฉันทศาสตร์มีความหมายว่า ตำรา (ศาสตร์)    ที่แต่งเป็นสูตร (ฉันท์) ตามอย่างตำราการแพทย์ในคัมภีร์อาถรรพ์เวท  ตำราอาถรรพ์เวท เป็นพระเวทหนึ่งในศาสนาพราหมณ์ จึงมีเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์ด้วย  จึงมักพบคำว่า “คัมภีร์ไสย์”ปรากฏอยู่ในคำประพันธ์ ดังตัวอย่าง

เรียนรู้ให้ชัดเจน                     จบจังหวัดคัมภีร์ไสย์

ตั้งต้นปฐมใน                               ฉันทศาสตร์ดังพรรณนา

แต่ในคัมภีร์ฉันศาสตร์ มีการประสานความเชื่อความคิดต่างๆ ทางสังคมและทางพระพุทธศาสนาเข้าด้วยกัน เนื้อหาจึงปรากฏคำบาลีแสดงให้เห็นตลอด ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา เช่น   มิจฉา (ความผิด)  พิริยะ (ความเพียร) วิจิกิจจา (ความลังเล) อุทธัจ(ความฟุ้งซ่าน) วิหิงษา (เบียดเบียน) อโนตัปปัง (ความไม่สะดุ้งกลัวต่อบาป) อธิกรณ์ (โทษ)

๒. สะท้อนให้เห็นคุณค่าเรื่องแพทย์แผนไทย  ถ้าพิจารณาในส่วนที่กล่าวถึงทับ ๘ ประการ จะเป็นได้ว่าแพทย์แผนไทยเป็นวิธีการรักษาโรคอีกวิธีหนึ่ง เป็นแพทย์ทางเลือกที่มีความจำเป็นในการรักษาโรค  เราจะคิดว่าเป็นเรื่องที่ล้าสมัยไม่ได้ เพราะเวชกรรมแผนโบราณเป็นที่ยอมรับเชื่อถือมาช้านาน  ก่อนที่จะรับเอาวิทยาการแพทย์แผนใหม่มาจากชาติตะวันตกมาใช้   ซึ่งปัจจุบันการค้นคว้าวิจัยทางแพทย์ จะกลับมาให้ความสนใจในการรักษาด้วยยาสมุนไพรตามแบบโบราณ โดยถือว่าเป็นทางเลือกทางหนึ่งในการรักษาโรคในปัจจุบัน

๓.  ให้ข้อคิดสำหรับการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน  สามารถนำข้อคิดที่ได้จากการศึกษาคัมภีร์ฉันทศาสตร์ไปใช้ได้ทุกสาขาอาชีพ เพราะไม่ว่าจะเป็นบุคคลในอาชีพใด  ถ้าไม่มีความประมาท  ความอวดดี  ความริษยา  ความโลภ ความเห็นแก่ตัว  ความหลงตัวเอง และการมีศีลธรรมประจำใจ ย่อมได้รับการยกย่องจากบุคคลต่างๆ

โดยเฉพาะในวิชาชีพแพทย์ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของชีวิตคน ต้องเป็นผู้ที่รอบรู้จริง ตั้งแต่การวินิจฉัยสมติฐานโรค การใช้ยา และความรับผิดชอบต่อผู้ป่วย ให้ปฏิบัติด้วยความรอบคอบไม่ประมาท โดยมีคำสอนในทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางในการชี้นำ

๔. ให้ความรู้เรื่องศัพท์ทางการแพทย์แผนโบราณ   เช่น คำว่า  “ธาตุพิการ”ธาตุทั้งสี่ (ดิน น้ำ ลม และไฟ)  ในร่างกายไม่ปกติ ทำให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้นตามกองธาตุเหล่านั้น คำว่า “กำเดา” หมายถึงอาการไข้อย่างหนึ่งเกิดจากหวัดเรียกว่า “ไข้กำเดา”  อาการของโรคจะมีเลือดไหลออกทางจมูก เรียกว่าเลือดกำเดา คำว่า  “ปวดมวน”  หมายถึงการปั่นป่วนในท้อง

จะเห็นได้ว่า  ข้อบกพร่องของแพทย์มีทั้งแง่ของความประมาท  ความอวดดี  ความริษยา  ความโลภ  ความเห็นแก่ตัว  ความหลงตัวเอง  ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากบรรดาแพทย์ที่เล็งเห็นข้อบกพร่องต่างๆ เหล่านี้ย่อมช่วยให้คนไทยหายไข้ได้เร็วขึ้น ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย  และที่สำคัญคือคนจนได้รับความสนใจจากแพทย์ ส่วนของแพทย์ด้วยกันนั้น  มีการเตือนสติไม่ให้แพทย์สูงอายุหลงตัวเองจนลืมไปว่าคนหนุ่มก็มีความสามารถเหมือนกัน

สำหรับวรรณคดีเพื่อประชาชนนั้น มีมาตั้งแต่โบราณ คัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทยศาสตร์สงเคราะห์โดยองค์รวม จนเป็นทั้งหนังสือที่ให้ความรู้แห่งภูมิปัญญาที่มีคุณค่า

patawe_herb